กล้วยน้ำว้าเชื่อม


กล้วยน้ำว้าเชื่อมเป็นขนมหวานอย่างหนึ่งที่ทำให้ย้อนหวนรำลึกถึงความหลังสมัยยังเยาว์ได้เป็นอย่างดี เพราะบรรดาแม่ ๆ ของพวกเราหลายบ้านมักทำให้กินอยู่บ่อย ๆ อาจเป็นเพราะว่ากล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่อยู่คู่ประเทศไทยมาช้านานและหาไม่ยาก สนนราคาไม่แพงด้วยค่ะ  กินตอนอุ่น ๆ ก็จะอร่อยไปแบบหนึ่ง  กินตอนเย็นที่น้ำเชื่อมรัดตัวกล้วยแล้วก็จะอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง  กินเป็นหวานเย็นโดยใส่น้ำแข็งแล้วราดกะทิสดก็อร่อยไปอีกแบบที่ไม่แพ้กันค่ะ

สมัยก่อนแม่จะเชื่อมด้วยกระทะทองเหลืองหรือหม้อสแตนเลสหนา ๆ ยี่ห้อรีน่าแวร์เค้าดังมากในสมัยนั้น  แม่หลิ่มและน้องสาวถูกใช้ให้เฝ้าหม้อกล้วยเชื่อมอยู่บ่อย ๆ  แต่บางทีด้วยความที่เราเป็นเด็ก  ติดทีวีบ้าง  ติดเล่นบ้าง  ก็เฝ้าจนกล้วยเชื่อมไหม้  ถึงขนาดที่ว่าบางทีต้องตักกล้วยเชื่อมขึ้นแล้วรีบเอาหม้อไปขัดค่ะ  กล้วยที่เชื่อมไว้เหลือนิดเดียว  หม้อก็ขัดรอยไหม้ไม่ออก  ต้องเอาไปตากแดดให้มันล่อน  เอามีดขูดก้นหม้อแล้วถึงเอามาล้าง  แต่หม้อก็จะเป็นรอยไหม้  เสียสวยหมดเลย  โดนดุโดนตีกันบ่อย ๆ ไปค่ะ

วันนี้เราได้เปลี่ยนลุค  เราทันสมัยขึ้น  เปลี่ยนการเชื่อมกล้วยจากหม้อสแตนเลสหรือกระทะทองเหลืองมาใช้หม้อที่เคลือบด้วย ceramic coating ชนิดที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของ CERACOAL รุ่น multi-purpose pan แทนค่ะ  สีสันสวยงาม  ด้ามจับถอดได้และยังเป็น double lock อีกด้วย  ครั้งนี้ใช้หม้อสีเขียวอ่อนค่ะ  เพราะขนาดหม้อพอดิบพอดีที่จะเชื่อมกล้วยได้ทั้งหวี  ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป  และได้ทดสอบว่าหากมีอาหารอยู่ในหม้อแล้วยกเท  ด้ามจับจะมั่นคงแข็งแรงดีไม๊  น้ำเชื่อมร้อน ๆ นะคะครานี้  หากไม่มั่นคงแข็งแรงละก็มีได้เข้าโรงพยาบาลไปรักษาแผลไหม้  แต่…รอดปลอดภัยค่ะ  ไม่มีอุบัติเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น  ยังสวยดีอยู่

อ่านรีวิวรายละเอียด กระทะ ceramic coating ได้ที่นี่ค่ะ  ===>>  https://maesalim.net/tips/ceracoal-ceramic-coating/

เตรียมของ
กล้วยน้ำว้าเปลือกสีกระดังงา 1 หวี (ที่แม่หลิ่มใช้นับได้ 16 ลูกค่ะ)
น้ำตาลทรายขาว 450 กรัม
น้ำตาลปีบคุณภาพดี 30 กรัม
น้ำตาลทรายแดง 5 กรัม
เกลือ 1/4+1/8 ช้อนชา
น้ำมะนาว 1/4 เสี้ยว
น้ำสะอาด 1 ลิตร

ขั้นตอนการทำ

  1. เลือกกล้วยน้ำว้าแบบเปลือกสีกระดังงาค่ะ  คือเขียวอมเหลือง  ถ้าได้กล้วยเปลือกสีเขียวมากเมื่อปอกเปลือกแล้วเปลือกล่อนออกจากลูกไม่หมดถึงขนาดต้องเกลาเปลือกทิ้งเราก็จะได้กล้วยเชื่อมที่แข็งมาก  กัดไม่เข้า  ถ้าเลือกกล้วยเปลือกสีออกเหลืองมากสุกจัดไปค่ะ  จะมีผลให้ได้กล้วยเชื่อมที่เละ  สำหรับคนที่ชอบกินแบบนิ่มก็คงจะชอบ  แต่ถ้าชอบแบบแข็งหน่อยอาจจะเมินค่ะ  ถ้าบังเอิญได้กล้วยที่เปลือกออกเหลืองแต่ยังไม่สุกมาก  ยังพอมีวิธีแก้ไขได้คือก่อนเชื่อมให้เอาไปแช่น้ำปูนใสก่อนค่ะ  บางอย่างเราก็พอแก้ไขได้  แต่บางอย่างก็ไม่สามารถนะคะ
  2. แบบที่บอก  แม่หลิ่มเลือกใช้หม้อสีเขียวอ่อน  ทรงจะออกกว้างแต่ไม่สูงมาก  แต่รับรองว่าสูงพอดีที่จะเชื่อมกล้วยได้ทั้งหวีแน่นอนค่ะ  ทำการประกอบด้ามจับเข้ากับตัวหม้อ  เทน้ำตาลทรายและน้ำสะอาดใส่ลงไป
  3. นำขึ้นตั้งไฟกลางเคี่ยวให้น้ำตาลทรายละลายให้หมด  ให้ได้น้ำเชื่อมใส ๆ  แต่ไม่ต้องเคี่ยวนานนะคะ  แค่พอเดือดแล้วน้ำตาลทรายละลายหมดแค่นั้นค่ะ  ระหว่างการเคี่ยวน้ำเชื่อมใช้ทัพพีที่ใช้กับภาชนะเทปล่อนคนได้เป็นครั้งคราวเพื่อช่วยให้น้ำตาลทรายละลายได้ดีขึ้น
  4. เมื่อน้ำตาลทรายละลายหมดและน้ำเชื่อมเดือดดีแล้วยกลงกรองบนผ้าขาวบางที่วางบนกระชอนหนึ่งครั้งเพื่อเอาเศษฝุ่นและผงออก  ลองสังเกตว่าอำพรยกด้ามจับของหม้อเทเลยค่ะ  สะดวกสบาย  ตัวหม้อเบานะคะ  ยกสบาย  ไม่หนักมือ  จริง ๆ แม่หลิ่มยกเองได้แต่อำพรถ่ายรูปให้ไม่ได้  เลยต้องให้อำพรยกแทนค่ะ  ฮ่าฮ่า
  5. เทน้ำเชื่อมกลับหม้อใบเดิมเมื่อกี้แล้วเปิดไฟอ่อน ๆ ค่ะ  ระหว่างนี้ทำการปอกกล้วยไปด้วย  ถ้าเปลือกกล้วยสกปรกล้างน้ำทั้งหวี 1 ครั้ง  หรือจะตัดเป็นลูก ๆ แล้วนำไปล้างก่อนก็ได้แล้วแต่จะสะดวกเพราะบางสวนที่ปลูกกล้วยฝุ่นเยอะมาก  เปลือกกล้วยจะติดฝุ่นดำ ๆ ทำให้ดูไม่สะอาด
  6. ตัดหัวตัดท้ายลูกทำการปลอกเปลือก  แล้วผ่าตามยาวลูกเป็น 2 ส่วน  ผ่าตามขวางลูกเป็น 2 ส่วน  หนึ่งลูกกล้วยจะได้ 4 ชิ้นสวยงามค่ะ  ถ้าได้กล้วยสีเปลือกออกเหลืองมากกว่าเขียวแต่ยังไม่นิ่มมากให้ทำการปอกกล้วย  ผ่า 4 ส่วน  แล้วนำไปแช่น้ำปูนใสสัก 1 ชั่วโมง  เพื่อให้เนื้อกล้วยแข็งขึ้น  ถึงค่อยทำการเคี่ยวน้ำเชื่อม  เวลาที่ไปเชื่อมจะได้ไม่เละจนเกินไปค่ะ  แต่กล้วยที่แม่หลิ่มเลือกมานี้ขนาดพอดีที่จะเชื่อมโดยที่ไม่ต้องแช่น้ำปูนใส  หากนำไปแช่สุดท้ายกล้วยเชื่อมจะแข็งโป๊กเกินไปค่ะ  ขึ้นกับระดับความสุกของกล้วยนะคะ
  7. บางคนถ้าปอกกล้วยช้าก็อาจจะปอกกล้วยทั้งหมดแล้วแช่น้ำสะอาดในกะละมังก่อนถึงค่อยสงขึ้นใส่หม้อน้ำเชื่อม  แต่ที่บ้านของแม่หลิ่มจะปอกไปใส่หม้อน้ำเชื่อมไปเลยค่ะ  แล้วแต่จะถนัดแบบไหนนะคะ  ทำการปอกกล้วย  ผ่า 4 และใส่ลงในหม้อน้ำเชื่อมเรื่อย ๆ  ไฟกลางไปทางอ่อนค่ะ  ใจเย็น ๆ  แม่หลิ่มใช้แก๊สวงเล็ก  ไม่ใช่แก๊สวงใหญ่นะคะ  กรณีที่แช่กล้วยด้วยน้ำปูนใสก่อนทำการเชื่อมอย่าลืมล้างน้ำสะอาดก่อนนำกล้วยลงเชื่อมนะคะ
  8. เชื่อมกล้วยด้วยไฟกลางไปทางอ่อนเรื่อย ๆ  เนื้อกล้วยจะค่อย ๆ สุกไป  ระหว่างนี้อย่าคนมากไป  ใช้วิธีใช้ทัพพีเขี่ย ๆ ให้ชิ้นกล้วยถูกน้ำเชื่อมเสมอ ๆ กัน  กล้วยจะได้สุกทั่วถึงกันค่ะ
  9. ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง  กล้วยจะสุกใสขึ้นแต่สีจะยังไม่เป็นสีชมพูหรือแดงนะคะ  เชื่อมกล้วยต้องใจเย็น  อย่าไปเร่งไฟแรง  หากไฟแรงไปน้ำเชื่อมจะงวดเร็วเกิน  แล้วถ้าไม่รู้จักเติมน้ำกล้วยอาจจะไม่สุกดี  และเชื่อมแล้วชิ้นกล้วยจะเหี่ยว  ไม่เต่งตึงสวยงาม  ระหว่างการเชื่อมในตอนนี้ถ้าน้ำงวดเร็วไปจนน้ำเชื่อมขึ้นแต่กล้วยยังไม่สุกใสให้ใส่น้ำสะอาดลงไปเพิ่มได้  การงวดเร็วหรือช้าขึ้นกับระดับไฟที่ใช้ด้วยค่ะ
  10. ระหว่างนี้ให้เตรียมน้ำตาลปีบ  น้ำตาลทรายแดง  คุณภาพดีไว้  เกลือ  และน้ำมะนาวค่ะ  น้ำตาลปีบและน้ำตาลทรายแดงช่วยให้กล้วยสีแดงเข้มขึ้น  ถ้าชอบสีแดงเข้มมากในส่วนของน้ำตาลปีบเปลี่ยนเป็นน้ำตาลทรายแดงแทนได้เลย   เกลือช่วยให้รสชาติกลมกล่อมขึ้น  และน้ำมะนาวช่วยให้กล้วยเชื่อมเงาสวย
  11. ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงผ่านไปนับจากใส่กล้วยลงไป  เนื้อกล้วยภายนอกจะเป็นสีชมพู  เนื้อกล้วยดูใสขึ้น  ไส้กล้วยจะเป็นสีเหลือง  ให้ใส่น้ำตาลปีบ  น้ำตาลทรายแดง  เกลือและน้ำมะนาวลงไป
  12. ทำการเชื่อมกล้วยต่อ  แม่หลิ่มลดไฟลงเล็กน้อย  เชื่อมไปเรื่อย ๆ อีกประมาณ 1/2 ชั่วโมงกว่า  กล้วยจะเปลี่ยนสีเป็นสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ
  13. น้ำเชื่อมจะงวดข้นขึ้นเรื่อย ๆ  เชื่อมจนได้สีกล้วยในแบบที่พอใจ  แม่หลิ่มเจือน้ำตาลปีบและน้ำตาลทรายแดงไม่มาก  จึงได้กล้วยสีนี้ค่ะ  ถ้าใครชอบสีเข้ม ๆ แบบที่บอกให้ปรับส่วนของน้ำตาลปีบและน้ำตาลทรายแดงเอาตามชอบ
  14. น้ำเชื่อมงวดข้นมากระวังหม้อจะไหม้ได้ง่าย ๆ  นะคะ  แต่วันนี้แม่หลิ่มใช้หม้อ CERACOAL เลยสะดวกสบาย  ไหม้ยากมากค่ะ
  15. ยกเสิร์ฟทั้งหม้อ  เพราะหม้อเขาสีสันสวยงาม  ยกขึ้นโต๊ะได้เหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ colorful มาก ๆ
  16. จะกินแบบอุ่น  แบบเย็น  หรือใส่น้ำแข็งตามชอบนะคะ

ดูแล้วเกิดกิเลสอยากได้แบบแม่หลิ่ม  เพราะสวยงาม  ใช้งานง่าย  สีสวย  ไม่หนักมือ   ล้างได้โดยไม่ต้องรอภาชนะเย็น  สะดวกสบาย  เหมาะกับสโลแกนของผลิตภัณฑ์ที่ว่า ขยายความสุข  เพิ่มสีสัน  ให้ครัวของคุณ จริง ๆ ค่ะ

พี่ ๆ น้อง ๆ หรือ fanpage ท่านไหนสนใจเครื่องครัวชุดนี้ สามารถสอบถามได้ที่ 02-290-3979
สนนราคาช่วงโปรโมชั่นจาก 10,000 บาท ตอนนี้เหลือเพียง 4,590 บาท/ชุด เองนะคะ

*

*

*

*

*

  • http://www.maesalim.com/tips/ceracoal-ceramic-coating/ แม่สลิ่ม : CERACOAL – Ceramic coating

    [...] ===>>  http://www.maesalim.com/desserts/%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%… Tags: ceracoal, ceramic, ceramic coating, coating, maesalim, เทปล่อน, [...]

  • http://www.facebook.com/profile.php?id=100004792664364 มะปราง ยังโสด

    ดีมากกกกชอบบบบมาก เนื้อหาเยอะดีกว่าอันอื่น