หมูชะมวง


  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมูชะมวงเป็นอาหารพื้นบ้านเมืองจันทน์หรือจังหวัดจันทบุรี  โขลกเครื่องแกงมาผัดกับหมู  ถ้าไม่กลัวอ้วนและไขมันใช้หมูส่วนสามชั้น  ผัดจนหมูตึงตัว  ใส่ใบชะมวง  เติมน้ำ  ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลปีบ  ความเปรี้ยวได้จากใบชะมวง  เคี่ยวจนหมูเปื่อยนุ่ม  สุดท้ายรสชาติเปรี้ยว หวาน เค็ม  หากินไม่ได้ง่าย ๆ เจ๊า

แม่หลิ่มนั้นได้กินหมูชะมวงมาตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ  น้าชายเป็นครูสอนอยู่ที่ระยอง  เมื่อก่อนนี้เวลาน้าชายมาหาแม่ในแต่ละครั้งจะหอบเอาใบชะมวงมาฝากอยู่เรื่อยไป  ไม่เห็นแม่จะเอาใบชะมวงมาทำอะไรนอกจากเจ้าหมูชะมวงเท่านั้นเองค่ะ  หลัง ๆ น้าชายแต่งงานมีครอบครัวไปแล้วก็ไม่ค่อยว่างมาเยี่ยมเยือนแม่อีก  แม่เลยไม่ค่อยได้ทำหมูชะมวงอีก

เมื่อสมัยแม่หลิ่มเรียนระดับอุดมศึกษานั้นได้ไปเรียนพยาบาลที่จันทบุรีค่ะ  จะเป็นหอปิด  พยายาลจะอยู่หอปิดกันหมด  ถูกบังคับนั่นแล  อาหารที่โรงอาหารทำให้กินบ่อย ๆ ก็จะเป็น  หมูชะมวง  ก๋วยเตี๋ยวเลียง  และเส้นจันทน์ผัด  จนพากันเบื่อ ๆ ไปเลย  แต่หลังจากจบจากที่นั่นมาก็แทบไม่ได้กินหมูชะมวงอีกเลย  เพราะไม่ค่อยจะได้เจอกับเจ้าใบชะมวงนี่บ่อยนัก  เมื่อหลายปีก่อนแม่หลิ่มก็ทำแล้วโพสต์กระทู้ไว้ในพันทิปไว้ทีนึงแล้วค่ะ

มารอบนี้วันก่อนไปเดินตลาดบางใหญ่  เจอเจ้าใบชะมวงนี้เลยสอยมา 1 กำ  อยู่มาหลายปีไม่ค่อยจะได้เห็น  เพิ่งจะมาเห็นก็รอบนี้ค่ะ  เลยต้องจัดไป  อย่าให้เสียดายโอกาสทอง ฮิ

ถ้าลองไปค้นหาสูตรหมูชะมวงใน google จะพบเจอหลากหลาย  ต่าง ๆ กันไปนิดหน่อย  บ้างก็ใส่ตะไคร้  บ้างก็ไม่ใส่  บ้างก็ใส่กะปิ  บ้างก็ไม่ใส่  คงแล้วแต่บ้านและแต่ละพื้นที่

แม่หลิ่มขอทำแบบง่าย ๆ ตามสไตล์ที่แม่ของแม่หลิ่มทำนะคะ

เตรียมของ
สันคอหมู 500 กรัม
ใบชะมวง 1 1/2-2 ถ้วย
พริกแห้งเม็ดใหญ่ 4 เม็ด
หัวหอมแดง 7 หัว
กระเทียม 20 กลีบ
ข่า 4 แว่น
กะปิ 1/2 ช้อนโต๊ะ
พริกไทยป่น  มากน้อยตามชอบ
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
น้ำมันพืชสำหรับผัดเครื่องแกง 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำสะอาด 4 ถ้วย
น้ำปลา 4-5 ช้อนโต๊ะ  อาจจะบวกลบนิดหน่อย  ใช้ชิมเอาประกอบนะคะ
น้ำตาลปีบ 3-4 ช้อนโต๊ะ  อาจจะบวกลบนิดหน่อย  ใช้ชิมเอาประกอบนะคะ

ขั้นตอนการทำ

  1. สำหรับเนื้อหมูนั้น  แม่หลิ่มเลือกใช้สันคอหมูค่ะ  จริง ๆ ถ้าเป็นของดั้งเดิมเขาจะใช้ส่วนสามชั้นทำ  แต่แม่หลิ่มไม่ชอบสามชั้น  ไม่ชอบกินหนังหมูเลยต้องเลือกเนื้อหมูส่วนที่มีมันแทรกตามเส้นใยเนื้อเพื่อที่ทำแล้วเนื้อหมูจะไม่แห้งแข็ง  มันจะไม่อร่อยค่ะ  ส่วนของเนื้อหมูล้างน้ำแล้วพักให้สะเด็ดน้ำ  หั่นเป็นชิ้นใหญ่ประมาณ 1.5×1.5×1.5 นิ้ว  ถ้าหั่นเล็กเกินไปเมื่อเคี่ยวนาน ๆ แล้วจะหดตัว  ชิ้นเล็กเกินจะดูไม่น่ากินค่ะ
  2. ลักษณะของต้นชะมวงและใบชะมวงนั้นลองเข้า google แล้ว search หาอ่านได้เลยนะคะ  หาได้ตามแถบจังหวัดจันทบุรี  ระยอง  ตราด  ภาคใต้ก็มีบางจังหวัด  ภาคอีสานก็มี  แต่ภาคอีสานเขาจะเรียกว่า “ส้มโมง” ค่ะ  ที่ภาคอื่น ๆ จะมีต้มหมูชะมวงแต่ก็คนละสูตรกันกับทางภาคตะวันออกค่ะ
  3. ในการเลือกใบชะมวงมาทำหมูชะมวงนั้น  ต้องเลือกใบที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป  ใบอ่อนความเปรี้ยวจะน้อย  ใบแก่จะกินแล้วเป็นกากใย  เคี่ยวเปื่อยยากด้วยค่ะ  ลักษณะของใบชะมวงจะมัน ๆ และค่อนข้างสะอาด  ใบอ่อนจะสีเขียวอ่อนและม่วง ๆ  ใบจะบาง ๆ  ในขณะที่ใบแก่จะสีเข้มกว่าและหนา ๆ  นำล้างน้ำแล้วฉีกเอาเส้นกลางใบทิ้งไปเหมือนเวลาใช้ใบมะกรูด  แล้วฉีกเป็นชิ้นย่อม ๆ หากใบใหญ่มาก  ถ้าจะให้หอมต้องเอาไปเผาให้สลบสักนิดหนึ่ง  แต่เห็นแม่ของแม่หลิ่มไม่เคยเผาเลยค่ะ  บางครั้งแม่หลิ่มก็เผาหรือไม่เผาแล้วแต่ความสะดวกในการทำอาหารในแต่ละครั้ง
  4. นำพริกแห้งตัดเป็นชิ้นเล็กแล้วแช่น้ำให้นิ่มไว้
  5. ส่วนของหัวหอมแดงและกระเทียมปอกเปลือกออก  ล้างและพักให้สะเด็ดน้ำ  หัวหอมแดงหั่นให้ชิ้นเล็กลงเพื่อช่วยให้โขลกง่ายขึ้น
  6. ข่านำล้างน้ำ  ซอยบาง ๆ  และหั่นเล็ก ๆ  ส่วนของหัวหอมแดง  กระเทียม  และข่าถ้าอยากให้หอมอาจจะเอาไปเผาไฟหรือคั่วก่อนก็ได้ค่ะ  แต่ครั้งนี้แม่หลิ่มไม่ได้ทำขั้นตอนการคั่วหรือเผาค่ะ
  7. เมื่อพริกแห้งแช่น้ำจนนิ่มแล้วสงเอาพริกแห้งขึ้นจากน้ำ  นำใส่ครก  ใส่เกลือลงไป  เริ่มต้นโขลกพริกและเกลือก่อนจนได้พริกหยาบ ๆ
  8. ใส่ข่าที่หั่นชิ้นเล็ก ๆ ไว้ลงไป  โขลกต่อให้เข้ากัน  พริกอาจจะยังแล่นใบใหญ่ ๆ อยู่บ้าง  ยังไม่ต้องละเอียดยิบ ๆ
  9. ใส่หัวหอมแดงและกระเทียมลงไป  โขลกต่อให้เข้ากัน  พริกจะละเอียดขึ้น  กระเทียมจะละเอียด  ในขณะที่หัวหอมจะยังแล่นใบอยู่บ้าง
  10. ใส่กะปิและพริกไทยป่น  โขลกต่อให้เข้ากัน  ที่บ้านแม่หลิ่มใช้พริกไทยดำป่นนะคะ
  11. เตรียมของครบแล้วเริ่มลงมือผัด  ใส่น้ำมันพืชลงในกระทะ  เปิดเตาแล้วรอน้ำมันอุ่นสักเล็กน้อย
  12. เมื่อน้ำมันอุ่นตักเครื่องแกงที่โขลกไว้ลงไปผัดให้หอม  ใช้ไฟกลางไปทางอ่อน  ขึ้นกับวงแก๊สนะคะ  ปรับเตากันเอาเอง  ยีให้เครื่องแกงกระจายตัวด้วย  อย่าให้เป็นก้อน
  13. หันไปหันมาเทน้ำใส่ครกที่โขลกเครื่องแกงไว้ด้วย  ใช้สากนั่นและเคล้า ๆ ลงในก้นครก  เอาเครื่องแกงที่ติดกับครกหลุดเจือมาในน้ำให้หมด
  14. เมื่อเครื่องแกงหอมแล้วใส่เนื้อหมูที่เตรียมไว้ลงไปผัดให้เครื่องแกงเคลือบเนื้อหมูเสมอกัน  จะเห็นว่าหมูตึงตัวขึ้น  ไม่ต้องผัดจนหมูสุกค่ะ
  15. ใส่ใบชะมวงที่เตรียมไว้ลงไป  ผัดพอให้ใบชะมวงสลบ  เค้าจะเปลี่ยนสีจากตอนแรกสีเขียวสด ๆ จะเป็นสีคล้าย ๆ มะกอกดอง
  16. คราวนี้ตักย้ายมาใส่หม้อที่จะใช้เคี่ยวค่ะ  แล้วเทน้ำที่ล้างก้นครกใส่หม้อ  เติมน้ำสะอาดอีกตามสมควรให้ท่วมหมูมาประมาณ 1 นิ้ว  แม่หลิ่มใช้น้ำในการล้างครกและเทเพิ่มไปตั้งหมด 4 ถ้วยนะคะ
  17. เปิดไฟกลางรอให้น้ำแกงเดือด  เมื่อน้ำแกงเดือดปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลปีบเอาพอเหมาะพอสมก่อน  อย่าเพิ่งหนักมือเพราะเคี่ยวไปแล้วน้ำจะงวด  เดี๋ยวรสชาติจะเข้มข้นมากเกินไป  ในช่วงแรก ๆ ความเปรี้ยวจากใบชะมวงยังไม่ออกมาค่ะ  ต้องเคี่ยวสักครู่ค่ะ  ปรุงรสแล้วอย่าลืมลดไฟลงอ่อนด้วย
  18. เมื่อเคี่ยวไปสักพัก 30 นาที  ลองชิมรสชาติแล้วค่อยปรุงเพิ่ม  บางร้านก็หวาน  เปรี้ยว  เค็ม  แต่แม่หลิ่มทำเปรี้ยว  หวาน  เค็ม  นะคะ  เอาในแบบที่ชอบ
  19. ถ้าใช้หมูส่วนสามชั้นนั้นเมื่อเคี่ยวไปสักพักจะมีมันลอยอยู่ด้านบนจำนวนมาก  จะช้อนมันทิ้งบ้างก็ได้เพื่อกันเลี่ยนค่ะ  เคี่ยวไปเรื่อย ๆ ให้หมูเปื่อยนุ่มและใบชะมวงจะเปื่อยขึ้น  เวลากินนั้นจะไม่เจอใบชะมวงที่แข็ง ๆ  มันจะกลมกลืนกันค่ะ
  20. แม่หลิ่มใช้เวลาเคี่ยวประมาณ 1 1/2 ชั่วโมงนะคะ  ระหว่างการเคี่ยวหมั่นชิมรสเรื่อย ๆ และปรุงเพิ่มตามความชอบ
  21. เมื่อเคี่ยวได้ที่จะมีน้ำมากกว่าขลุกขลิก  แต่ไม่โจ๋งเจ๋งนะคะ  หมูชะมวงยิ่งข้ามคืนยิ่งอร่อยกว่าทำใหม่ ๆ ค่ะ
  22. ถ้าหาใบชะมวงได้  อยากให้ลองทำเมนูนี้กินกันบ้างค่ะ  เป็นการอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านของแต่ละภาคไปในตัวด้วย  ใบชะมวงหาได้ตามตลาดที่ขายผักพื้นบ้าน  ใน อตก. ก็เคยเห็นมีค่ะ
  • http://www.facebook.com/profile.php?id=100001036623882 Somsak Doylan

    ผมอยู่เชียงรายไม่ทราบว่าต้นชะมวงเป็นอย่างไรรู้แต่ว่ามีสรรพคุณทางยามากอยากได้สักต้นมาปลูกที่สวนจะทำไงดีครับ